Jan 19, 2008

ตลาดบ้าน 2551

ผลพวงจากวัสดุก่อสร้างบางตัวที่ปรับขึ้นราคาในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลโดยตรงต่อต้นทุนพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ทั้งแนวราบและแนวสูง ที่น่าจับตามองคือ นอกจากวัสดุก่อสร้างหลักอย่างปูนซีเมนต์ได้ประกาศปรับขึ้นไปช่วงก่อนหน้านี้แล้วตันละ 200 บาท หรือถุงละประมาณ 10 บาท เพื่อรักษาระดับมาร์จิ้น หลังจากต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมัน สถานการณ์ราคาวัสดุก่อสร้างอีกตัวที่น่าจับตามองคือ เหล็กเส้น ที่ราคาผันผวนอย่างมากตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ทั้งในกลุ่มบริษัทพัฒนาที่ดินและบริษัทรับสร้างบ้าน ต้องตัดสินใจประกาศปรับขึ้นราคาขายบ้านและคอนโดฯ รวมทั้งราคาค่าก่อสร้างบ้านขึ้น โดยเฉลี่ยตั้งแต่ 3-7% เพราะไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมากได้อีก แม้ผู้ผลิตวัสดุประเภทอื่น อาทิ สุขภัณฑ์ กระเบื้อง ฯลฯ ยังคงตรึงราคาขายในระดับเท่าเดิม เนื่องจากเกรงว่าการปรับขึ้นราคาอาจส่งผลกระทบต่อยอดขาย เนื่องจากตลาดโดยรวมชะลอตัวจากสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและการเมือง

นายสุนทร สถาพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เฉลิมนคร จำกัด เจ้าของโครงการบ้านสถาพร รังสิต-นครนายก คลอง 3 เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา ต้นทุนค่าก่อสร้างบ้านปรับเพิ่มสูงขึ้นตลอด หลักๆ มาจากวัสดุก่อสร้างหลักบางตัวปรับขึ้นราคา ได้แก่ 1)เหล็กเส้น ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาปรับขึ้นมาแล้วประมาณ 50% ซึ่งในการก่อสร้างบ้าน 1 หลัง การใช้เหล็กเส้นคิดเป็นสัดส่วน 7-8% ของค่าก่อสร้างทั้งหมด ทำให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระต้นทุนเพิ่มขึ้นมาก 2)ไม้ ปรับขึ้นประมาณ 5% 3)ปูนซีเมนต์ ปรับขึ้นประมาณ 5-10% และ 4)ค่าแรงขั้นต่ำ ปรับขึ้นประมาณ 3% จาก 190 บาท เป็น 196 บาท เบ็ดเสร็จทำให้ต้นทุนค่าก่อสร้างบ้านโดยรวมในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาปรับขึ้นแล้วประมาณ 12% หรือเฉลี่ยปีละ 4% ไม่รวมราคาประเมินที่ดินฉบับใหม่ที่ปรับขึ้นทั่วประเทศ อย่างจังหวัดปทุมธานีราคาประเมินที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างปรับขึ้นเฉลี่ย 10-15% เท่ากับว่าภาระจ่ายค่าธรรมเนียมการโอนเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการจำต้องปรับราคาขายบ้านและคอนโดฯเพิ่มโดยเฉลี่ย 5%

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า จากการสำรวจแผนลงทุนของผู้ประกอบการพัฒนา ที่ดินในปีนี้ พบว่าแม้ส่วนใหญ่ยังต้องการรอดู สถานการณ์ทางการเมืองและรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ แต่หลายบริษัทประกาศเดินหน้าลงทุนตามแผนที่วางไว้ก่อนหน้านี้ โดยแสดงความมั่นใจว่าสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและการเมืองไม่น่าจะเลวร้ายกว่าที่ผ่านมาอีกแล้ว อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าความเคลื่อนไหวในการลงทุนหลักๆ จะมาจากกลุ่มอสังหาฯ ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาที่ดินที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งจำเป็นต้องลงทุนต่อเนื่องเพื่อผลทางด้านภาพลักษณ์และสร้างแรงดึงดูดใจให้กับนักลงทุน

เริ่มจาก พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จะเปิดตัวโครงการแนวราบ 10 โครงการ กระจายทุกโซน ทั้งรัตนาธิเบศร์, บางใหญ่-ราชพฤกษ์, รามคำแหง แนวสูง มีเมโทร พาร์ค รัชดาฯ และสาทร อีก 3 เฟส

พฤกษาฯ ไม่ต่ำกว่า 40 โครงการ มูลค่า 8.3 พันล้านบาท ทั้งบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ คอนโดฯ,

ควอลิตี้เฮ้าส์ 11 โครงการ มูลค่า 2 หมื่นล้าน,

เอสซี แอสเซท 6 โครงการ มูลค่ารวม 3 พันล้านบาท เป็นคอนโดฯ 2 โครงการ ที่เหลือบ้านเดี่ยว และทาวน์โฮม

โกลเด้นแลนด์ กำลังศึกษาจะเปิดตัว ทาวน์เฮาส์ และบ้านเดี่ยวแบรนด์ใหม่ราคา 3-5 ล้านบาท ส่วนโครงการใหม่แนวราบมี 1 โครงการ คอนโดฯ 1 โครงการ นอกนั้นจะเปิดเฟสใหม่ในโครงการเดิมทั้งทำเลพระราม 9, วงแหวนตะวันออก และราชพฤกษ์

รสา พร็อพเพอร์ตี้ฯ จะเปิดตัวบ้านเดี่ยวและคอนโดฯ 5-6 โครงการ 4 พันกว่าล้านบาท,

แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เปิดใหม่ 12 โครงการ 1.13 หมื่นล้านบาท,

ศุภาลัย 12 โครงการ ทั้งบ้านเดี่ยวและคอนโดฯ ตั้งเป้ายอดขายที่ 9,999 ล้านบาท

เอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ฯ 6-7 โครงการ เป็นแนวราบ 50% และแนวสูง 50% มูลค่ารวมกว่า 15,000 ล้านบาท,

แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ 6 โครงการ มูลค่ารวม 10,000 ล้านบาท เน้นแบรนด์ลุมพินี คอนโดทาวน์ เป็นหัวหอก

อารียา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด 6 โครงการ 4,000-5,000 ล้านบาท ทั้งคอนโดฯ บ้านเดี่ยว และทาวน์เฮาส์,

ปริญสิริ 10 โครงการ มูลค่ารวม 14,000 ล้านบาท เป็นคอนโดฯ 50% และบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์อีก 50%

1 comment:

Anonymous said...

ขอบคุณสำหรับบทความนะค่ะ

Related Posts with Thumbnails